วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

บทบัญญัติในกฎหมาย
-  กฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
-  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๖/๒๕๕๗ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
-  ฐานความผิด "ยึดถือ ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ

วิธีดำเนินการสอบสวน
-  อำนาจควบคุมการสอบสวนคดีป่าไม้
-  การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บท
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ

กรณีบุกรุกและครอบครองป่า
-  อายุความกรณีบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ
-  สิทธิครอบครองต่อจากผู้อื่นหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  สิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  จ้างไถพรวนที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  เชื่อโดยสุจริตว่าก่อสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติได้

กรณีทำไม้และครอบครองไม้
-  ทำไม้ในที่ดิน สปก.๔-๐๑
-  ร่วมกันครอบครองไม้และสนับสนุนการกระทำความผิด

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อายุความกรณีบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๕๒/๒๕๕๔
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔   ยึดถือและครอบครองป่า อายุความ  มาตรา ๔ (๑), ๕๔
              โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เวลากลางวัน ถึงปัจจุบันต่อเนื่องกันตลอดมา จําเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าบริเวณป่าห้วยยอดมน ซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อตนเองหรือผู้อื่น จําเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางพื้นที่ป่ารวมเนื้อที่ป่าประมาณ ๔๗๒.๕ ตารางวา และล้อมรั้วลวดหนามและก่อสร้างอาคารขึ้นในที่ดินดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพียงแต่ออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าห้วยยอดมน ซึ่งรวมถึงที่เกิดเหตุออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น มิได้ถอนสภาพจากการเป็นป่าด้วย ที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลจากกรมป่าไม้ เป็นกระทรวงมหาดไทย ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑)
              การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุ จึงเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จําเลยครอบครองป่าอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๐๐๒/๒๕๕๒
 ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) (๔), ๓๖๒, ๓๖๕
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)
               แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
               ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา ๓๖๕ มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตรา ๓๖๒ มีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) และ (๔)
               เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ เกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง

กฎหมาย
-  ประมวลกฎหมายที่ดิน

-  พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.๒๕๕๘

-  พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗
-  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๙

-  พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔

-  พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

-  พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.๒๕๓๕

-  พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๐๔

-  พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.๒๕๔๕

พระราชกฤษฎีกา 
-  พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๓๐
-  พระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ.๒๕๓๐

ประกาศกระทรวง
-  ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กําหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ชิงชันและไม้กระพี้เขาควายและสิ่งประดิษฐ์ของไม้พะยูง เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๙
-  ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กําหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้บางประเภทเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๙
-  ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

หนังสือที่เกี่ยวข้อง
-  หนังสือที่ ตช ๐๐๑๖/๕๐๓๑ ลง ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เรื่อง  การสอบสวนคดีอาญาในอำนาจหน้าที่ของ ตร.
-  หนังสือที่ ตร. ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖  เรื่อง แนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท 
-  หนังสือที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๙๒ ลง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗  เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

สิทธิครอบครองต่อจากผู้อื่นหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2539
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม.54
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ม.14
               แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดิน จำนวนประมาณ 496 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา มาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ครอบครองได้ไปร้องแจ้งสิทธิการครอบครองไว้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ก็เป็นเพียงแสดงว่า เฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น แต่สำหรับจำเลยผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากบุคคลดังกล่าว จะอ้างสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนมาได้ก็แต่ราษฎรด้วยกันเองเท่านั้น แต่ในเรื่องที่ผู้ใดกระทำผิดกฎหมายหรือไม่สำหรับกรณีนี้นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเหตุเฉพาะตัวของผู้กระทำ จำเลยจะอ้างว่าได้รับโอนสิทธิและขาดเจตนาบุกรุกป่าสงวนเช่นกันหาได้ไม่ เพราะเป็นการอ้างเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิด และเป็นการอ้างในลักษณะที่ว่าตนเองไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้น
               เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อ ได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2529 จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมาระหว่างปี พ.ศ.2530 ถึงปี 2535 จึงเป็นระยะเวลาที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติโดยการแสดงบอกกล่าวต่อเจ้าหน้าที่และแสดงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นหลักฐานแสดงออกถึงการครอบครองที่ป่าสงวนดังกล่าว กรณีก็เป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แล้ว เพราะบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามบุคคลใดเข้ายึดถือ ครอบครองป่าสงวน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิด และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ซึ่งบัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔
              "มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือ กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการ ทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้ จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"
              "มาตรา ๕๕ ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น"
              "มาตรา ๗๒ ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
               ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย"
              "มาตรา ๗๔ ทวิ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็น อุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่"

จ้างไถพรวนดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.227
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม.4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ
             โจทก์มีจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์ผู้ร่วมจับกุมนายสุวิวัฒน์มาเบิกความยืนยันตรงกันว่า ได้ไปจับกุมนายสุวิวัฒน์ขณะกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถดันดินในดินที่เกิดเหตุ สอบถามนายสุวิวัฒน์ นายสุวิวัฒน์บอกว่าได้รับการว่าจ้างมาจากจำเลย และมีนายอาวุธ ซึ่งเป็นนายหน้ารับติดต่อไถพรวนดินโดยรถแทรกเตอร์มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยได้มาติดต่อกับนายอาวุธให้นำรถแทรกเตอร์ไปไถดันดินซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นของจำเลยโดยจำเลยได้พานายอาวุธและนายสุวิวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ขับรถแทรกเตอร์ไปชี้แนวเขตที่ดินที่จะว่าจ้างให้ไถดันดินด้วย
             ในคดีอาญา กฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นมิได้เกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามในชั้นสอบสวนคดีนี้ไม่มีการกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอาวุธแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ว่านายอาวุธทราบดีว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็เกิดจากความเข้าใจของจำเลยเองมิได้เกิดจากการสอบสวน นายอาวุธจึงมิใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้ คำเบิกความของนายอาวุธจึงไม่ถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดคดีนี้
               ส่วนคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์พยานโจทก์ที่เบิกความว่า นายสุวิวัฒน์บอกว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ไถดันดินนั้น แม้จะถือว่าเป็นพยานบอกเล่าในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยว่าจ้างให้ไถดันดินจริงหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานในข้อเท็จจริงที่ว่า นายสุวิวัฒน์ได้บอกแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้นายสุวิวัฒน์ไถดันดินซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอาวุธ เมื่อทั้งจ่าสิบตำรวจทวี จ่าสิบตำรวจชยันต์และนายอาวุธ ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้
               ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุที่ดินที่เกิดเหตุ ยังเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นป่า ตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (1) การที่จำเลยได้ว่าจ้างนายสุวิวัฒน์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันดินในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับนายสุวิวัฒน์ได้ร่วมก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าและยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นเนื้อที่ไม่เกิน 25 ไร่ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าได้มีการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป
               ที่ดินบริเวณเกิดเหตุได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินไว้ก่อนแล้ว เหตุที่มีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเนื่องจากเป็นที่ดินที่เสื่อมโทรม และมีชาวบ้านเข้าไปครอบครองได้มีการออกหลักฐาน ส.ป.ก. ให้แก่ชาวบ้านที่เข้าครอบครองไปบ้างแล้ว และตามภาพถ่ายบริเวณที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้เห็นเพียง 2 ต้น และกองต้นไม้ที่ถูกไถดันโค่นลงในที่เกิดเหตุเป็นเพียงต้นไม้เล็ก ๆ ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การแผ้วถาง ก่นสร้างและครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพป่าเพิ่มขึ้นมากนัก จำเลยได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นกำนัน และได้ปฏิบัติหน้าที่กำนันได้สมประโยชน์แก่ทางราชการจนได้รับรางวัล นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีต่อท้องถิ่นและทางราชการ จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงสมควรให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่คิดกระทำผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง

เชื่อโดยสุจริตว่าก่อสร้างในอุทยานแห่งชาติได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๙๗ /๒๕๔๓
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ มาตรา ๔ ,๖,๑๖,(๑ ),( ๔),( ๑๓ ),๒๔ ,๒๗  พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๓ , ๔, ๑๙   ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ , ๑๐๘ ทวิ
             คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า ตามระเบียบของกรมป่าไม้ ปี ๒๕๒๕ และปี ๒๕๓๐ เอกชนไม่สามารถที่จะเข้ายึดถือครอบครองหรือปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และกรมป่าไม้ไม่เคยอนุญาตให้เอกชนใด ดำเนินกิจการหาผลประโยชน์ในเกาะเสม็ด นายไพโรจน์และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าและเกาะเสม็ด ไม่มีอำนาจออกคำสั่งอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปให้หาผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น
             ศาลฏีกาเห็นว่า ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินบนเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติ มีราษฎรเข้ายืดถือครอบครองที่ดินบนเกาะเสม็ดอยู่แล้ว ปรากฎจากคำเบิกความของนายสมชาย นายอมร และนายดาวเรือง พยานโจทก์ว่า ได้กันพื้นที่ทางด้านเหนือของเกาะประมาณ ๗๐๐ ไร่ให้ ราษฎรอยู่อาศัย นอกจากนี้ นายไพโรจน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทำบันทึกระบุว่า มีผู้อ้างว่าตกสำรวจ ทั้งนายไพโรจน์ยังทำบันทึกด้วยว่ากรมป่าไม้อนุญาตให้สร้างบังกะโล ได้ ๕ หลังต่อพื้นที่ ๑ ไร่ นายไพโรจน์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ในภายหลังได้ส่งมาตามหมายเรียกของศาล โดยมีนักวิชาการ ๖ กองอุทยานแห่งชาติ รับรองสำเนาถูกต้อง เอกสารดังกล่าวจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๘ วรรคสอง
             แม้นายไพโรจน์มิได้มาเบิกความก็ตาม แต่นายสมบูรณ์ พยานโจทก์ได้เบิกความตอบคำถามค้าน ยอมรับว่า นายไพโรจน์ทำบันทึกยินยอมให้เอกชนก่อสร้างบังกะโลได้ ๕ หลัง ต่อพื้นที่ ๑ ไร่ จริง เมื่อนายไพโรจน์ทำบันทึกขณะปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ อนุญาตให้ราษฎรจำนวน ๓๔ ครอบครัว รวมทั้งจำเลยที่เดือดร้อนสร้างบังกะโลได้ ๕ หลังต่อพื้นที่ ๑ ไร่ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด นายไพโรจน์จะมีอำนาจอนุญาตได้หรือไม่ และขัดต่อระเบียบของกรมป่าไม้หรือไม่ ก็ยังมีข้อโต้เถียงกัน จนต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
             ดังนี้ จึงมีเหตุน่าเชื่อว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านายไพโรจน์ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้ จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า ตนเองมีสิทธิ์จะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาต พยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

ฐานความผิด "ยึดถือ ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗

              มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ไม้” หมายความว่า ไม้ทุกชนิดทั้งที่เป็นต้น กอ หรือเถา ไม่ว่ายังยืนต้นหรือล้มลงแล้ว และหมายความรวมตลอดถึง ราก ปุ่ม ตอ หน่อ กิ่ง ตา หัว เหง้า เศษ ปลายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้ ไม่ว่าจะถูกตัด ฟัน เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใด
               “ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่มีอยู่ในป่าออกจากป่าด้วยประการใดๆ

              มาตรา ๑๔  ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่ 
              (๑) ทำไม้หรือเก็บหาของป่าตามมาตรา ๑๕ เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๖ ทวิ หรือมาตรา ๑๖ ตรี กระทำการตามมาตรา ๑๗ ใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๑๘ หรือกระทำการตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐
              (๒) ทำไม้หวงห้ามหรือเก็บหาของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

              มาตรา ๓๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
              ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่
              (๑) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข.ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือ
              (๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือ
              (๓) ต้นน้ำลำธาร
              ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
              ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ด้วย

              มาตรา ๑๕  การทำไม้หรือการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศอนุญาตไว้เป็นคราว ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ
              การอนุญาตให้เป็นไปตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๑๖  อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
              (๑) การเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จะอนุญาตโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่เห็นสมควรก็ได้
              (๒) การเข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่คราวละไม่เกินสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเก็บหาของป่าและไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงของป่าตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับแร่ ดินขาว หรือหิน แล้วแต่กรณี
              การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี
              (ข้อพิจารณา.-  โดยหลักการ ห้ามมิให้เข้าไปทำประโยชน์ในป่าสงวนฯ โดยมีเจตนาพิเศษคือทำให้ป่าสงวนฯ เสื่อมเสีย แต่ก็มีข้อยกเว้นคือ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้ทำได้)

              มาตรา ๑๖ ทวิ  ในกรณีที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดหรือบางส่วนมีสภาพเป็นป่า ไร่ร้างเก่า หรือทุ่งหญ้า หรือเป็นป่าที่ไม่มีไม้มีค่าขึ้นอยู่เลย หรือมีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย และป่านั้นยากที่จะกลับฟื้นคืนดีตามธรรมชาติ ทั้งนี้ โดยมีสภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม
              ถ้าทางราชการมีความจำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดเขตป่าเสื่อมโทรมทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ
              ในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าบุคคลใดได้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตดังกล่าวอยู่แล้วจนถึงวันที่ประกาศกำหนดตามวรรคสอง
              (๑) เมื่อบุคคลดังกล่าวร้องขอ และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นว่าบุคคลนั้นยังมีความจำเป็นเพื่อการครองชีพ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อไปในที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้วนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินยี่สิบไร่ต่อหนึ่งครอบครัว และมีกำหนดเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี ทั้งนี้ โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคราวแรก คราวต่อ ๆ ไปต้องเสียค่าธรรมเนียม
              (๒) บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตาม (๑) อาจขออนุญาตปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นในที่ที่ตนเคยทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาตแล้วโดยพิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีความสามารถ และมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะปลูกป่า หรือไม้ยืนต้นตามที่ขอเพิ่มนั้นได้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้ปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบห้าไร่ต่อหนึ่งครอบครัว และมีกำหนดเวลาคราวละไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินสามสิบปี และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้
             การได้รับอนุญาตตามวรรคสาม มิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
             ให้บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตตามวรรคสาม (๑) และ (๒) ได้รับยกเว้นค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า สำหรับไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต
             บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัวเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้
             ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตละทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับอนุญาตติดต่อกันเกินระยะเวลาสองปี หรือยินยอมให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัวเข้าทำประโยชน์ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตนั้น
            (ข้อพิจารณา.- รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดให้ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นป่าเสื่อมโทรมได้ แต่ถ้าทางราชการจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพป่า ก็ให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ผู้เข้าทำประโยชน์อยู่ก่อนที่มีความจำเป็นเพื่อการครองชีพจึงจะมีสิทธิร้องขอต่ออธิบดีเพื่อทำประโยชน์ต่อไป ตามเงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกำหนด)

             มาตรา ๑๗  เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือแก่กระทรวง ทบวง กรมหรือบุคคลอื่นใดให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าก็ได้

             มาตรา ๑๙  เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าสงวนแห่งชาติอธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้** กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้

              มาตรา ๒๐  ในกรณีป่าสงวนแห่งชาติแห่งใดมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมตามมาตรา ๑๖ ทวิ ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้นในเขตป่าเสื่อมโทรมได้ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสืออนุญาต แต่ในกรณีที่จะอนุญาตให้เกิน ๒,๐๐๐ ไร่ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
              รัฐมนตรีอาจกำหนดให้ผู้รับอนุญาตเสียค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาลได้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
              (ข้อพิจารณา.-  อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลใดทำการบำรุงป่าเสื่อมโทรมได้ ภายในเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด)

               มาตรา ๓๕  บรรดาไม้ ของป่า เครื่องมือ เครื่องใช้ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลใช้หรือได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่