วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร่วมกันครอบครองไม้และสนับสนุนการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3335/2554
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69
               คำว่า “ครอบครอง” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตาม ป.พ.พ. ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่า โดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้น จึงจะเป็นความผิด
               อีกทั้ง ในทางอาญา การร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชักลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  737/2550
ป.อ. มาตรา 83, 86, 91
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 73
              การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 กระทงหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันอีกกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกัน
              เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรม มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวคราวเดียวไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
             จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์หรือไม่ก็ดี หรือมีเจตนาในการกระทำความผิดหรือไม่ก็ดี ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กระทำความผิดทุกข้อตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แล้ว ตามหนังสือรับรองแจ้งการขอรับใบอนุญาตท้ายอุทธรณ์ และอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 6 ได้ไม้ของกลางมาโดยไม่ชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพ และย่อมเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
             คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  136/2546
ป.อ. มาตรา 59, 86, 91
พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7, 48, 73, 74
               ความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่โรงงานแปรรูปไม้นั้นยังตั้งอยู่ และผู้ตั้งโรงงานยังไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ตั้งโรงงานในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อจำเลยไปช่วยก่อสร้างและรับจ้างทำงานในโรงงานดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทำงานมานาน ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยหลบหนี จึงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าโรงงานนั้นตั้งขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่จำเลยทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานโดยทำไม้วงกบประตูให้แก่นายคำ นายจ้างที่จะนำไปสร้างบ้าน ย่อมเป็นการช่วยเหลือนายคำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของนายคำ
               ความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองเป็นความผิดที่จะต้องกระทำโดยเจตนา ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นลูกจ้างนายคำ รับจ้างนายคำปลูกสร้างบ้านและแปรรูปไม้อยู่ในโรงงานเกิดเหตุมานาน ไม้สักแปรรูปของกลางเป็นไม้ที่จำเลยเป็นผู้แปรรูปเพื่อจะนำไปใช้ปลูกสร้างบ้านอันเป็นกิจการของนายคำ และจำเลยเบิกความว่า ขณะที่จำเลยแปรรูปนั้นนายคำป่วยอยู่ที่บ้านนายคำ จำเลยย่อมจะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาไม้ที่ได้จากการแปรรูปไว้เพื่อมอบให้แก่นายคำ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาครอบครองไม้สักแปรรูปของกลาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทำไม้ในที่ดิน ส.ป.ก.๔-๐๑

คำพิพากษาฎีกาที่ 8371/2551
ป.แพ่ง กรรมสิทธิ์ (มาตรา 1336)
ป.ที่ดิน (มาตรา 2 , 3(2))
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ (มาตรา 26(4) , 36 ทวิ วรรคหนึ่ง)
พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ (มาตรา 11 , 73 วรรคหนึ่ง)
              พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นว่า ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
              เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 36 ทวิ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตามความหมายของ ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน
                การที่ ส.ป.ก. ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ก. จัดสรรในที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกร จึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น ดังนั้น ที่ ส. ได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ก. ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามที่บัญญัติในมาตรา 3 (2) แห่ง ป.ที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตาม ป.ที่ดิน และยังคงเป็นป่าตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
                การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก. ของ ส. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 282/2549
พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
               การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าดงแดง) และมีการออก ส.ป.ก.4-01 ให้แก่นาง ท. ภรรยาของผู้ต้องหาที่ 1 กรณีย่อมถือว่าที่ดินที่เกิดเหตุได้ถูกเพิกถอนจากสภาพการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ที่ดินที่เกิดเหตุจึงมิใช่ป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป ส่วนการที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 36 ทวิ บัญญัติให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือสิทธิในที่ดินนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์เพียงให้ ส.ป.ก. เอาที่ดินนั้นมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินในกรณีทั่วไป การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของ ส.ป.ก. จึงไม่ใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
               ที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินที่เกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ ไม่ว่าจะจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยได้รับเอกสารส.ป.ก.4-01 แล้วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ในที่ดินที่เกิดเหตุจึงยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ การที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันตัดฟันต้นพะยอมซึ่งเป็นไม้หวงห้ามในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วแปรรูปเป็นไม้เหลี่ยมไม้แผ่นรวม 19 ชิ้น ปริมาตร 0.50 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้ แปรรูปไม้มีไม้หวงห้ามแปรรูปเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
              จึงชี้ขาดให้ฟ้อง นาย บ. ผู้ต้องหาที่ 1 นาย ส. ผู้ต้องหาที่ 2 นาย อ. ผู้ต้องหาที่ 3 และนาย ล. ผู้ต้องหาที่ 4 ฐานร่วมกันทำไม้ แปรรูปไม้ มีไม้หวงห้ามแปรรูปเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 กับชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 และขอศาลสั่งริบของกลางทั้งหมด