วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๖/๒๕๕๗ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
            โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
            ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    "มาตรา 7  ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา"
            ข้อ 2  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   "มาตรา 48  ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป มีไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย แปรรูป ไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต"
            ข้อ 3  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น (1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท”
            ข้อ 4  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 72 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    "ในกรณีความผิดมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น
                     (1)  ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ
                     (2)  ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินห้าต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้ที่ครอบครองเกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท”
             ข้อ 5  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2525 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                     ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ
                     (1)  ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระชิก ไม้กระชิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ
                    (2)  ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท”
             ข้อ 6  ให้ยกเลิกความในลำดับที่ 53 ในช่องประเภท ก ไม้หวงห้ามธรรมดาของบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530
                                            ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
                                             ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
                                                                              พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                                                                         หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อำนาจควบคุมการสอบสวนคดีป่าไม้

               สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ ตช 0011.22/3807 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปความได้ว่า “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เรื่องเสร็จที่ 66/2553) ว่าตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 (4)  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจวางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ได้ สำหรับกรณีที่เนื้อหาใดในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 และหนังสือสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขัดแย้งกับกฎกระทรวงหรือระเบียบที่จะออกขึ้นใหม่ เนื้อหานั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่เนื้อหาส่วนใดที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงระเบียบหรือคำสั่งที่จะออกใหม่ย่อมคงใช้บังคับได้ต่อไป"
              ประเด็นที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอหารือว่า กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419 / 2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ในบทที่ 4 มาตรการควบคุม ตรวจสอบและเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ข้อ 2.6 อำนาจการควบคุมการสอบสวน ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติขึ้นใหม่ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาสาระเดิมของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ข้อ 12.4 - 12.6 ที่ออกมาใช้บังคับก่อน หากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จะใช้ดุลพินิจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ อาจขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และมาตรา 140 จะสามารถกระทำได้อีกหรือไม่ และผลตามกฎหมายจะเป็นเช่นไร
             ในประเด็นที่ 1 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือเป็นหลักทั่วไปเกี่ยวกับอำนาจพนักงานสอบสวน โดยกำหนดให้งานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอและข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาประเภทหนึ่งประเภทใดโดยเฉพาะ จึงทำให้พนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาทั้งปวง แต่อำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนดังกล่าวอาจถูกจำกัดให้มีอำนาจในการสอบสวนเฉพาะความผิดอาญาบางประเภทหรือจะให้มีอำนาจสอบสวนได้เพียงใดนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 หรือข้อบังคับซึ่งออกตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี
              สำหรับกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419 / 2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เพื่อให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น โดยคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาสาระเดิมของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ตามข้อ 12.4 ถึงข้อ 12.6 ที่ออกมาใช้บังคับก่อนนั้น  เห็นว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับเฉพาะกับการสอบสวนในส่วนของตำรวจเท่านั้น ในกรณีที่เนื้อหาในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 เฉพาะส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการของตำรวจ ขัดหรือแย้งกับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว เนื้อหาในส่วนนั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่สำหรับเนื้อหาในส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจตามข้อ 12.4 ถึงข้อ 12.6 นั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งเพื่อให้มีผลเป็นการยกเลิกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยในส่วนดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้เคยให้ความเห็นไว้แล้วในเรื่องเสร็จที่ 66/2553
             ในส่วนข้อหารือที่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จะใช้ดุลพินิจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ได้อีกหรือไม่นั้น  เห็นว่า มีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญาพ.ศ. 2523 ในส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจนั้น จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ คือมีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ได้ก็ตาม แต่การที่ฝ่ายปกครองจะเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้นั้นฝ่ายปกครองจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนในคดีความผิดอาญาประเภทนั้นเสียก่อน การที่มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ฝ่ายปกครองและตำรวจต่างมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครได้ แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ออกกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2554 เพื่อกำหนดความผิดอาญาที่ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองสอบสวนได้จึงมีผลเป็นการจำกัดอำนาจสอบสวนในคดีความผิดอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครของฝ่ายปกครองไว้เพียง 16 ประเภท เมื่อกรณีคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอหารือดังกล่าว มิได้เป็นคดีความผิดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ฝ่ายปกครองอันได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จึงมิใช่ผู้มีอำนาจในการสอบสวนในคดีอื่นนอกเหนือจากคดี 16 ประเภทดังกล่าว และเมื่อไม่มีอำนาจสอบสวนแล้ว จึงย่อมไม่มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติได้
            ประเด็นที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือว่า กรณีหากต้องดำเนินการตามหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุดที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลง 8 มิถุนายน 2558 แล้วจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสำนวนคดีในภายหลังหรือไม่ เนื่องจากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 12 ในส่วนนี้สิ้นผลใช้บังคับลงแล้วตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 66/2553 การใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองย่อมไม่ชอบ อันจะเป็นการขัดต่อบทกฎหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ อย่างไร
             ในประเด็นที่ 2 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อได้มีความเห็นตามประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับการใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ความเห็นในประเด็นที่ 2 อีก
             (ที่มา : บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ผลทางกฎหมายของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เรื่องเสร็จที่ 216/2559  ลง  กุมภาพันธ์ 2559)

บทความที่เกี่ยวข้อง 
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ