วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ

แนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ
                  ด้วยสำนักงานอัยการภาค 9 ได้ขอหารือสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการในการรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ กรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจได้ทำการสอบสวนฝ่ายเดียว โดยไม่มีพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมหรือใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน กอรปกับได้มีพนักงานอัยการจำนวนมากได้ขอสอบถามแนวทางปฎิบัติในการรับสำนวนประเภทดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยนั้น
                  สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาข้อหารือและปัญหาเกี่ยวกับการรับสำนวนดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรซักซ้อมความเข้าใจให้ทราบโดยทั่วกันว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยมีหนังสือเวียนตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 92 ลงวันที่ 22 เมษายน 2557 วางแนวทางปฎิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการไว้แล้ว
                  โดยให้พิจารณาว่า พนักงานสอบสวนที่เสนอสำนวนและความเห็นมายังพนักงานอัยการนั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น ๆ เพราะเป็นเรื่องภายในของแต่ละหน่วยงาน หากการสอบสวนได้กระทำโดยให้งานสอบสวนซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายพิธีพิจารณาความอาญาแล้ว พนักงานอัยการยอมที่จะมีอำนาจสั่งคดีนั้นได้ตามกฏหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในการพิจารณาอำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฏหมาย ให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ด้วย โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงคำสั่งระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายในของหน่วยงานอื่น เพราะไม่ใช่กฎหมายข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 ดังนั้น ในการพิจารณารับสำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ จึงให้พนักงานอัยการพิจารณาและถือปฏิบัติดังนี้
                1. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้น หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวมายังพนักงานอัยการ โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี ยังไม่ได้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนการสอบสวนมาด้วย ถือว่า เป็นการสรุปสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบ  เนื่องจากยังไม่มีสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีนี้ ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวไว้ แล้วสั่งให้ส่งคืนไปตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ดังกล่าวเสียก่อน
               2. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่ นๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เพียงแต่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการสอบสวน โดยไม่ได้เข้าไปควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 กรณีนี้ แม้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะส่งสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ โดยไม่มีสรุปความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอมาด้วย พนักงานอัยการก็สามารถรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้
                   เนื่องจาก ข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว กำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ในการพิจารณาว่าจะใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือไม่ หากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ก็จะไม่มีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่มีอยู่ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งต่อไปได้
            (ที่มา.- หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลงวันที่  8 มิถุนายน  2558)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้