วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

บทบัญญัติในกฎหมาย
-  กฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
-  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๖/๒๕๕๗ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
-  ฐานความผิด "ยึดถือ ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ

วิธีดำเนินการสอบสวน
-  อำนาจควบคุมการสอบสวนคดีป่าไม้
-  การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บท
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ

กรณีบุกรุกและครอบครองป่า
-  อายุความกรณีบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ
-  สิทธิครอบครองต่อจากผู้อื่นหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  สิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  จ้างไถพรวนที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
-  เชื่อโดยสุจริตว่าก่อสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติได้

กรณีทำไม้และครอบครองไม้
-  ทำไม้ในที่ดิน สปก.๔-๐๑
-  ร่วมกันครอบครองไม้และสนับสนุนการกระทำความผิด

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อายุความกรณีบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๕๒/๒๕๕๔
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔   ยึดถือและครอบครองป่า อายุความ  มาตรา ๔ (๑), ๕๔
              โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เวลากลางวัน ถึงปัจจุบันต่อเนื่องกันตลอดมา จําเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าบริเวณป่าห้วยยอดมน ซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อตนเองหรือผู้อื่น จําเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางพื้นที่ป่ารวมเนื้อที่ป่าประมาณ ๔๗๒.๕ ตารางวา และล้อมรั้วลวดหนามและก่อสร้างอาคารขึ้นในที่ดินดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพียงแต่ออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าห้วยยอดมน ซึ่งรวมถึงที่เกิดเหตุออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น มิได้ถอนสภาพจากการเป็นป่าด้วย ที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลจากกรมป่าไม้ เป็นกระทรวงมหาดไทย ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑)
              การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุ จึงเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จําเลยครอบครองป่าอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๐๐๒/๒๕๕๒
 ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) (๔), ๓๖๒, ๓๖๕
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)
               แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
               ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา ๓๖๕ มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตรา ๓๖๒ มีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) และ (๔)
               เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ เกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง

กฎหมาย
-  ประมวลกฎหมายที่ดิน

-  พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.๒๕๕๘

-  พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗
-  พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๙

-  พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔

-  พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

-  พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.๒๕๓๕

-  พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๐๔

-  พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.๒๕๔๕

พระราชกฤษฎีกา 
-  พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๓๐
-  พระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ.๒๕๓๐

ประกาศกระทรวง
-  ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กําหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ชิงชันและไม้กระพี้เขาควายและสิ่งประดิษฐ์ของไม้พะยูง เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๙
-  ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กําหนดให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และสิ่งประดิษฐ์ของไม้บางประเภทเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๙
-  ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

หนังสือที่เกี่ยวข้อง
-  หนังสือที่ ตช ๐๐๑๖/๕๐๓๑ ลง ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เรื่อง  การสอบสวนคดีอาญาในอำนาจหน้าที่ของ ตร.
-  หนังสือที่ ตร. ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖  เรื่อง แนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท 
-  หนังสือที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๙๒ ลง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗  เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

สิทธิครอบครองต่อจากผู้อื่นหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2539
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม.54
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ม.14
               แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดิน จำนวนประมาณ 496 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา มาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ครอบครองได้ไปร้องแจ้งสิทธิการครอบครองไว้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ก็เป็นเพียงแสดงว่า เฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น แต่สำหรับจำเลยผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากบุคคลดังกล่าว จะอ้างสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนมาได้ก็แต่ราษฎรด้วยกันเองเท่านั้น แต่ในเรื่องที่ผู้ใดกระทำผิดกฎหมายหรือไม่สำหรับกรณีนี้นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเหตุเฉพาะตัวของผู้กระทำ จำเลยจะอ้างว่าได้รับโอนสิทธิและขาดเจตนาบุกรุกป่าสงวนเช่นกันหาได้ไม่ เพราะเป็นการอ้างเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิด และเป็นการอ้างในลักษณะที่ว่าตนเองไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้น
               เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อ ได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2529 จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมาระหว่างปี พ.ศ.2530 ถึงปี 2535 จึงเป็นระยะเวลาที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติโดยการแสดงบอกกล่าวต่อเจ้าหน้าที่และแสดงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นหลักฐานแสดงออกถึงการครอบครองที่ป่าสงวนดังกล่าว กรณีก็เป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แล้ว เพราะบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามบุคคลใดเข้ายึดถือ ครอบครองป่าสงวน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิด และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ซึ่งบัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔
              "มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือ กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการ ทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้ จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"
              "มาตรา ๕๕ ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น"
              "มาตรา ๗๒ ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
               ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย"
              "มาตรา ๗๔ ทวิ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็น อุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่"

จ้างไถพรวนดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.227
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม.4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ
             โจทก์มีจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์ผู้ร่วมจับกุมนายสุวิวัฒน์มาเบิกความยืนยันตรงกันว่า ได้ไปจับกุมนายสุวิวัฒน์ขณะกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถดันดินในดินที่เกิดเหตุ สอบถามนายสุวิวัฒน์ นายสุวิวัฒน์บอกว่าได้รับการว่าจ้างมาจากจำเลย และมีนายอาวุธ ซึ่งเป็นนายหน้ารับติดต่อไถพรวนดินโดยรถแทรกเตอร์มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยได้มาติดต่อกับนายอาวุธให้นำรถแทรกเตอร์ไปไถดันดินซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นของจำเลยโดยจำเลยได้พานายอาวุธและนายสุวิวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ขับรถแทรกเตอร์ไปชี้แนวเขตที่ดินที่จะว่าจ้างให้ไถดันดินด้วย
             ในคดีอาญา กฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นมิได้เกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามในชั้นสอบสวนคดีนี้ไม่มีการกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอาวุธแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ว่านายอาวุธทราบดีว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็เกิดจากความเข้าใจของจำเลยเองมิได้เกิดจากการสอบสวน นายอาวุธจึงมิใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้ คำเบิกความของนายอาวุธจึงไม่ถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดคดีนี้
               ส่วนคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์พยานโจทก์ที่เบิกความว่า นายสุวิวัฒน์บอกว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ไถดันดินนั้น แม้จะถือว่าเป็นพยานบอกเล่าในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยว่าจ้างให้ไถดันดินจริงหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานในข้อเท็จจริงที่ว่า นายสุวิวัฒน์ได้บอกแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้นายสุวิวัฒน์ไถดันดินซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอาวุธ เมื่อทั้งจ่าสิบตำรวจทวี จ่าสิบตำรวจชยันต์และนายอาวุธ ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้
               ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุที่ดินที่เกิดเหตุ ยังเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นป่า ตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (1) การที่จำเลยได้ว่าจ้างนายสุวิวัฒน์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันดินในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับนายสุวิวัฒน์ได้ร่วมก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าและยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นเนื้อที่ไม่เกิน 25 ไร่ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าได้มีการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป
               ที่ดินบริเวณเกิดเหตุได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินไว้ก่อนแล้ว เหตุที่มีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเนื่องจากเป็นที่ดินที่เสื่อมโทรม และมีชาวบ้านเข้าไปครอบครองได้มีการออกหลักฐาน ส.ป.ก. ให้แก่ชาวบ้านที่เข้าครอบครองไปบ้างแล้ว และตามภาพถ่ายบริเวณที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้เห็นเพียง 2 ต้น และกองต้นไม้ที่ถูกไถดันโค่นลงในที่เกิดเหตุเป็นเพียงต้นไม้เล็ก ๆ ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การแผ้วถาง ก่นสร้างและครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพป่าเพิ่มขึ้นมากนัก จำเลยได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นกำนัน และได้ปฏิบัติหน้าที่กำนันได้สมประโยชน์แก่ทางราชการจนได้รับรางวัล นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีต่อท้องถิ่นและทางราชการ จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงสมควรให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่คิดกระทำผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง