วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

แนวทางปฏิบัติการสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
ในคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ ตามหนังสือ ตร. ที่ 0011.22/3806 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558
               1. สืบเนื่องจากหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 92 ลง 22 เมษายน 2557 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเกี่ยวกับคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ลง 1 กรกฎาคม 2556 เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัด การสอบสวนคดีอาญา สาระสำคัญสรุปได้ว่าคำสั่ง ตร. ดังกล่าวมีลักษณะเป็นกฎและมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเท่าเทียมกับข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 ดังนั้นกรณีที่เนื้อหาสาระในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ เฉพาะที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาในคำสั่ง ตร. เนื้อหานั้นย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงภายในหน่วยงาน ตร. ตามหลักกฏหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าและตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 66/2553 แต่คำสั่ง ตร. ดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง กฎ ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายใน ตร. กรณีจึงไม่อาจใช้บังคับกับพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานภายนอกอื่นได้
              2. ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มี หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อถือปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้
                 2.1 สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 แล้วหากมีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ โดยที่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองดังกล่าวยังไม่ได้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนไปด้วย ถือว่าเป็นการสรุปสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบ เนื่องจากยังไม่มีสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีดังกล่าวให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้ แล้วสั่งให้ส่งคืนตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 เสียก่อน
                 2.2 สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน หรือเพียงแต่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการสอบสวนโดยมิได้เข้าไปควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไปได้
             3. เนื่องจากหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดแนวทางในการพิจารณารับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติของพนักงานอัยการ ทำให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติและความกังวลสับสนเกี่ยวกับการสอบสวนคดีความผิดดังกล่าว รวมถึงการส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี โดยที่บางสำนวนคดีพนักงานอัยการไม่รับสำนวนไว้พิจารณา หรือรับสำนวนไว้แล้วส่งสำนวนคืนเพื่อให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดความบกพร่องกับการสอบสวนสำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองขึ้นได้ โดยเฉพาะสำนวนคดีซึ่งมีตัวผู้กระทำผิดและอยู่ระหว่างฝากขังในชั้นศาล กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ตร. ได้ทำหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ มิให้เกิดความเสียหายในทางคดีและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติแก่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดี จึงให้ถือปฏิบัติดังนี้

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7193/2547
ป.พ.พ. มาตรา 146
ป.อ. มาตรา 335
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 73
             นาง ล.ภริยาจำเลย และนาง ห.แม่ยายจำเลย เคยเข้าไปปลูกสร้างอาคารและกรีดยางในที่ดินพิพาท แต่ถูกโจทก์ฟ้องขับไล่ และศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ขับไล่นาง ล.และนาง ห. รวมทั้งจำเลยในฐานะบริวารด้วย
             โจทก์เป็นผู้ถือประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ในบริเวณที่ดินพิพาท ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ย่อมมีสิทธิในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนนาง ห. จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์เท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยลำพังได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
             โจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างต้นยางพาราในที่ดินพิพาท ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73 ให้สิทธิแก่ผู้ถือประทานบัตรใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำเหมือง เพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้
             การที่โจทก์ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตร ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกไว้เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 และยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3153/2538
ป.พ.พ. มาตรา 150, 1367
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14, 31
           แม้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14 จะห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่นและย่อมมีสิทธิขายการครอบครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวอยู่ จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำการครอบครองที่ดินไปขายให้โจทก์ เมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินไม่ได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์

หมายเหตุ
            (1)  สิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่ได้มาโดยข้อเท็จจริง(defacto) บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไม่ว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด มีเจ้าของหรือไม่ โดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมได้สิทธิครอบครองทั้งสิ้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1367) บุคคลทั่วไปจะเรียกว่าสิทธิอะไรไม่สำคัญเมื่อเป็นการยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว(หมายความเพียงว่าเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ถึงขนาดเจตนาเป็นเจ้าของ) ก็ย่อมถือว่าได้สิทธิครอบครองมีสิทธิครอบครองอยู่นั่นเอง
             ศาสตราจารย์ จิตติติงศภัทิย์ ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2527 ซึ่งจัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภามีความดังนี้ “ครอบครองเป็นสิทธิในตัวเอง โดยผลของกิริยายึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนตามมาตรา 1367 ไม่ต้องอาศัยอำนาจโดยกฎหมายอื่นใดอีก แม้ผู้ที่ขโมยหรือผู้บุกรุกก็ “ครอบครอง" เป็น “การครอบครอง" และได้ "สิทธิครอบครอง" โดยสมบูรณ์ จะมีการครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครองไม่ได้ใครจะเอาคืนได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยสิทธิดีกว่าหาใช่ผู้ยึดถือเพื่อตนที่ครอบครองในปัจจุบันไม่มีสิทธิครอบครองมิได้"
             ดังนี้ จะเห็นได้ว่า แม้จะไม่เรียกว่าสิทธิครอบครองก็ยังถือว่าเป็นสิทธิครอบครองอยู่ดี ศาสตราจารย์จิตติติงศภัทิย์ กล่าวไว้ในหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 ของท่านซึ่งจัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2513 เป็นเวลากว่า 25 ปี มาแล้วหน้า 1953-1954 ดังนี้ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1367 ใช้คำว่าสิทธิครอบครอง ส่วนมาตรา 1380 ใช้คำว่าการครอบครองสิทธิครอบครองกับการครอบครองเป็นอันเดียวกัน เพียงแต่เมื่อกล่าวในแง่สิทธิเรียกว่าสิทธิครอบครอง กิริยาที่ผู้ครอบครองกระทำต่อทรัพย์สินนั้นคือครอบครอง การกระทำของผู้ครอบครองเรียกว่าการครอบครอง สิทธิของผู้ครอบครองเรียกว่าสิทธิครอบครอง หาใช่ว่าสิทธิครอบครองทางแพ่งต่างกับการครอบครองทางอาญาแต่ประการใดไม่"

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บทฯ

               กรมตำรวจ แต่เดิมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจึงอยู่ภายใต้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับมีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวงกรม พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔๖ (๗) บัญญัติให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สังกัดกระทรวงใดหรือสำนักนายกรัฐมนตรี และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๖ ให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
                เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๕ บัญญัติให้ ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อวางระเบียบการงานตามหน้าที่ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
               คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีความเห็นในข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือ ผบ.ตร. มีอำนาจวางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นได้ ดังนั้น กรณีที่มีเนื้อหาใดในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย และหนังสือสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงหรือระเบียบที่จะออกขึ้นใหม่ เนื้อหานั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
               ผบ.ตร. จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ออกคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา "บทที่ ๔ เรื่อง มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา" ข้อ ๒.๖ อำนาจการควบคุมการสอบสวน บัญญัติมีใจความสำคัญว่า ให้ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนได้ทุกคดี และถือว่าเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ภายในเขตอำนาจ คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลให้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๑๒.๔ ข้อ ๑๒.๕ และ ข้อ ๑๒.๖ ซึ่งมีเนื้อหาขัดหรือแย้ง สิ้นผลให้บังคับลง
               นอกจากนี้ การสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท ตามคำสั่ง ตร. ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖  ซึ่งได้แก่ การสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและที่เกี่ยวข้อง การสอบสวนคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ การสอบสวนคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม และการสอบสวนคดีที่ข้าราชการต้องหาคดีอาญา มีใจความว่า
              "คดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔
              ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้นถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย
              ส่วนคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หรือมีข้อตกลงพิเศษกับหน่วยงานราชการอื่น เกี่ยวกับวิธีการสอบสวน พนักงานสอบสวนและระยะเวลาการสอบสวน ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงและระเบียบนั้น ๆ ที่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้โดยเคร่งครัดด้วย (ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๔ และ กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับที่ ๒)"
              เห็นได้ว่า พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในระดับสถานีตำรวจไม่สามารถยอมรับการเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองได้ในทันที แต่ต้องรีบรายงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งความเห็น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการก่อนทุกคดี

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ

แนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ
                  ด้วยสำนักงานอัยการภาค 9 ได้ขอหารือสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการในการรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ กรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจได้ทำการสอบสวนฝ่ายเดียว โดยไม่มีพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมหรือใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน กอรปกับได้มีพนักงานอัยการจำนวนมากได้ขอสอบถามแนวทางปฎิบัติในการรับสำนวนประเภทดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยนั้น
                  สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาข้อหารือและปัญหาเกี่ยวกับการรับสำนวนดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรซักซ้อมความเข้าใจให้ทราบโดยทั่วกันว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยมีหนังสือเวียนตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 92 ลงวันที่ 22 เมษายน 2557 วางแนวทางปฎิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการไว้แล้ว
                  โดยให้พิจารณาว่า พนักงานสอบสวนที่เสนอสำนวนและความเห็นมายังพนักงานอัยการนั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น ๆ เพราะเป็นเรื่องภายในของแต่ละหน่วยงาน หากการสอบสวนได้กระทำโดยให้งานสอบสวนซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายพิธีพิจารณาความอาญาแล้ว พนักงานอัยการยอมที่จะมีอำนาจสั่งคดีนั้นได้ตามกฏหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในการพิจารณาอำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฏหมาย ให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ด้วย โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงคำสั่งระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายในของหน่วยงานอื่น เพราะไม่ใช่กฎหมายข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 ดังนั้น ในการพิจารณารับสำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ จึงให้พนักงานอัยการพิจารณาและถือปฏิบัติดังนี้
                1. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้น หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวมายังพนักงานอัยการ โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี ยังไม่ได้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนการสอบสวนมาด้วย ถือว่า เป็นการสรุปสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบ  เนื่องจากยังไม่มีสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีนี้ ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวไว้ แล้วสั่งให้ส่งคืนไปตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ดังกล่าวเสียก่อน
               2. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่ นๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เพียงแต่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการสอบสวน โดยไม่ได้เข้าไปควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 กรณีนี้ แม้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะส่งสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ โดยไม่มีสรุปความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอมาด้วย พนักงานอัยการก็สามารถรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้
                   เนื่องจาก ข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว กำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ในการพิจารณาว่าจะใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือไม่ หากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ก็จะไม่มีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่มีอยู่ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งต่อไปได้
            (ที่มา.- หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลงวันที่  8 มิถุนายน  2558)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร่วมกันครอบครองไม้และสนับสนุนการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3335/2554
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69
               คำว่า “ครอบครอง” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตาม ป.พ.พ. ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่า โดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้น จึงจะเป็นความผิด
               อีกทั้ง ในทางอาญา การร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชักลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  737/2550
ป.อ. มาตรา 83, 86, 91
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 73
              การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 กระทงหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันอีกกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกัน
              เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรม มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวคราวเดียวไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
             จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์หรือไม่ก็ดี หรือมีเจตนาในการกระทำความผิดหรือไม่ก็ดี ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กระทำความผิดทุกข้อตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แล้ว ตามหนังสือรับรองแจ้งการขอรับใบอนุญาตท้ายอุทธรณ์ และอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 6 ได้ไม้ของกลางมาโดยไม่ชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพ และย่อมเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
             คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  136/2546
ป.อ. มาตรา 59, 86, 91
พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7, 48, 73, 74
               ความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่โรงงานแปรรูปไม้นั้นยังตั้งอยู่ และผู้ตั้งโรงงานยังไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ตั้งโรงงานในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อจำเลยไปช่วยก่อสร้างและรับจ้างทำงานในโรงงานดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทำงานมานาน ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยหลบหนี จึงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าโรงงานนั้นตั้งขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่จำเลยทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานโดยทำไม้วงกบประตูให้แก่นายคำ นายจ้างที่จะนำไปสร้างบ้าน ย่อมเป็นการช่วยเหลือนายคำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของนายคำ
               ความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองเป็นความผิดที่จะต้องกระทำโดยเจตนา ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นลูกจ้างนายคำ รับจ้างนายคำปลูกสร้างบ้านและแปรรูปไม้อยู่ในโรงงานเกิดเหตุมานาน ไม้สักแปรรูปของกลางเป็นไม้ที่จำเลยเป็นผู้แปรรูปเพื่อจะนำไปใช้ปลูกสร้างบ้านอันเป็นกิจการของนายคำ และจำเลยเบิกความว่า ขณะที่จำเลยแปรรูปนั้นนายคำป่วยอยู่ที่บ้านนายคำ จำเลยย่อมจะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาไม้ที่ได้จากการแปรรูปไว้เพื่อมอบให้แก่นายคำ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาครอบครองไม้สักแปรรูปของกลาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทำไม้ในที่ดิน ส.ป.ก.๔-๐๑

คำพิพากษาฎีกาที่ 8371/2551
ป.แพ่ง กรรมสิทธิ์ (มาตรา 1336)
ป.ที่ดิน (มาตรา 2 , 3(2))
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ (มาตรา 26(4) , 36 ทวิ วรรคหนึ่ง)
พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ (มาตรา 11 , 73 วรรคหนึ่ง)
              พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นว่า ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
              เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 36 ทวิ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตามความหมายของ ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน
                การที่ ส.ป.ก. ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ก. จัดสรรในที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกร จึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น ดังนั้น ที่ ส. ได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ก. ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามที่บัญญัติในมาตรา 3 (2) แห่ง ป.ที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตาม ป.ที่ดิน และยังคงเป็นป่าตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
                การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก. ของ ส. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 282/2549
พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
               การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าดงแดง) และมีการออก ส.ป.ก.4-01 ให้แก่นาง ท. ภรรยาของผู้ต้องหาที่ 1 กรณีย่อมถือว่าที่ดินที่เกิดเหตุได้ถูกเพิกถอนจากสภาพการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ที่ดินที่เกิดเหตุจึงมิใช่ป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป ส่วนการที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 36 ทวิ บัญญัติให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือสิทธิในที่ดินนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์เพียงให้ ส.ป.ก. เอาที่ดินนั้นมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินในกรณีทั่วไป การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของ ส.ป.ก. จึงไม่ใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
               ที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินที่เกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ ไม่ว่าจะจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยได้รับเอกสารส.ป.ก.4-01 แล้วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ในที่ดินที่เกิดเหตุจึงยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ การที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันตัดฟันต้นพะยอมซึ่งเป็นไม้หวงห้ามในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วแปรรูปเป็นไม้เหลี่ยมไม้แผ่นรวม 19 ชิ้น ปริมาตร 0.50 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้ แปรรูปไม้มีไม้หวงห้ามแปรรูปเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
              จึงชี้ขาดให้ฟ้อง นาย บ. ผู้ต้องหาที่ 1 นาย ส. ผู้ต้องหาที่ 2 นาย อ. ผู้ต้องหาที่ 3 และนาย ล. ผู้ต้องหาที่ 4 ฐานร่วมกันทำไม้ แปรรูปไม้ มีไม้หวงห้ามแปรรูปเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 กับชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 และขอศาลสั่งริบของกลางทั้งหมด