วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อายุความกรณีบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๕๒/๒๕๕๔
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔   ยึดถือและครอบครองป่า อายุความ  มาตรา ๔ (๑), ๕๔
              โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ เวลากลางวัน ถึงปัจจุบันต่อเนื่องกันตลอดมา จําเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าบริเวณป่าห้วยยอดมน ซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อตนเองหรือผู้อื่น จําเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางพื้นที่ป่ารวมเนื้อที่ป่าประมาณ ๔๗๒.๕ ตารางวา และล้อมรั้วลวดหนามและก่อสร้างอาคารขึ้นในที่ดินดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพียงแต่ออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าห้วยยอดมน ซึ่งรวมถึงที่เกิดเหตุออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น มิได้ถอนสภาพจากการเป็นป่าด้วย ที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลจากกรมป่าไม้ เป็นกระทรวงมหาดไทย ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑)
              การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุ จึงเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จําเลยครอบครองป่าอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๐๐๒/๒๕๕๒
 ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) (๔), ๓๖๒, ๓๖๕
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)
               แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑) (๒)
               ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา ๓๖๕ มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตรา ๓๖๒ มีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) และ (๔)
               เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ เกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)