วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

แนวทางปฏิบัติการสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
ในคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ ตามหนังสือ ตร. ที่ 0011.22/3806 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558
               1. สืบเนื่องจากหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 92 ลง 22 เมษายน 2557 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเกี่ยวกับคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ลง 1 กรกฎาคม 2556 เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัด การสอบสวนคดีอาญา สาระสำคัญสรุปได้ว่าคำสั่ง ตร. ดังกล่าวมีลักษณะเป็นกฎและมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเท่าเทียมกับข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 ดังนั้นกรณีที่เนื้อหาสาระในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ เฉพาะที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาในคำสั่ง ตร. เนื้อหานั้นย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงภายในหน่วยงาน ตร. ตามหลักกฏหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าและตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 66/2553 แต่คำสั่ง ตร. ดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง กฎ ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายใน ตร. กรณีจึงไม่อาจใช้บังคับกับพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานภายนอกอื่นได้
              2. ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มี หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อถือปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้
                 2.1 สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 แล้วหากมีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ โดยที่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองดังกล่าวยังไม่ได้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนไปด้วย ถือว่าเป็นการสรุปสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบ เนื่องจากยังไม่มีสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีดังกล่าวให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้ แล้วสั่งให้ส่งคืนตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 เสียก่อน
                 2.2 สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน หรือเพียงแต่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการสอบสวนโดยมิได้เข้าไปควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไปได้
             3. เนื่องจากหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดแนวทางในการพิจารณารับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติของพนักงานอัยการ ทำให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติและความกังวลสับสนเกี่ยวกับการสอบสวนคดีความผิดดังกล่าว รวมถึงการส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี โดยที่บางสำนวนคดีพนักงานอัยการไม่รับสำนวนไว้พิจารณา หรือรับสำนวนไว้แล้วส่งสำนวนคืนเพื่อให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดความบกพร่องกับการสอบสวนสำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองขึ้นได้ โดยเฉพาะสำนวนคดีซึ่งมีตัวผู้กระทำผิดและอยู่ระหว่างฝากขังในชั้นศาล กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ตร. ได้ทำหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ มิให้เกิดความเสียหายในทางคดีและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติแก่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดี จึงให้ถือปฏิบัติดังนี้

                  3.1 กรณีสำนวนคดีที่เพิ่งจะเริ่มรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ทำการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามในคำสั่ง ตร. ที่ 149/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญาและหนังสือสั่งการ ที่วางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว
                       หากมีกรณีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้มีหนังสือแจ้งเข้าควบคุมการสอบสวนโดยอ้างอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 12.5 - 12.6 แล้วแต่กรณี ให้สอบสวนผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามในคำสั่ง ตร. ที่ 149/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 และหนังสือสั่งการที่วางแนวทางปฏิบัติไว้โดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ทำการสอบสวนคดีนั้นต่อไป
                   3.2 กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว หากพนักงานอัยการไม่รับสำนวนคดีดังกล่าวไว้พิจารณา ให้พนักงานสอบสวนมีหนังสือประสานกับพนักงานอัยการขอให้ตอบยืนยันการไม่รับสำนวนคดีพร้อมทั้งระบุเหตุผลโดยออกหลักฐานเป็นหนังสือให้ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการนำเสนอผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาแก้ไขต่อไป
                   3.3 หากพนักงานอัยการแจ้งว่าให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลง 8 มิถุนายน 2558 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ แล้วได้ส่งสำนวนคืนตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 เสียก่อนนั้นกรณีนี้ถือได้ว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วการรับสำนวนคืนจากพนักงานอัยการเป็นเพียงเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในส่วนของการหารือปัญหาข้อกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
                   3.4 ท้องที่ใดมีคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติเกิดขึ้นภายในเขตอำนาจสอบสวนของตนและเกิดปัญหาเกี่ยวกับกรณีฝ่ายปกครองได้ใช้อำนาจเข้ามาควบคุมการสอบสวน หรือส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว พนักงานอัยการไม่รับสำนวนคดีดังกล่าวไว้พิจารณา ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นรีบรายงานเหตุไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นโดยด่วนจนถึงระดับ บช.
                        ให้ ผบช. มอบหมายให้ รอง ผบช. หรือสั่งการให้ ผบก.ภ.จว. ไปตรวจสอบหรือประสานทำความเข้าใจกับฝ่ายปกครองกรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจไม่อาจให้เข้าควบคุมการสอบสวนคดีดังกล่าวได้ โดยชี้แจงเหตุผลให้รับทราบตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 26/2553 เว้นแต่เป็นกรณีที่ฝ่ายปกครองประสงค์เข้าร่วมสอบสวนคดีก็ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ตร. ที่ 419 / 2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 และหนังสือสั่งการที่วางแนวทางปฎิบัติไว้โดยเคร่งครัด หรือไปประสานทำความเข้าใจกับพนักงานอัยการท้องที่ ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่กรณี
                    3.5 ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชานำเหตุกรณีข้อบกพร่องในสำนวนการสอบสวนดำเนินคดีหรือการเสนอสำนวนคดีให้พนักงานอันการพิจารณาอันเกี่ยวเนื่องกับปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติ ข้อขัดแย้งหรือประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่เป็นข้อยุติดังกล่าวข้างต้น มาเป็นเหตุในการพิจารณาข้อบกพร่องกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดี จนกว่าจะได้ข้อยุติจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือจนกว่า ตร. จะมีหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บทฯ
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ