วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

สิทธิครอบครองต่อจากผู้อื่นหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2539
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม.54
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ม.14
               แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดิน จำนวนประมาณ 496 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา มาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ครอบครองได้ไปร้องแจ้งสิทธิการครอบครองไว้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ก็เป็นเพียงแสดงว่า เฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น แต่สำหรับจำเลยผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากบุคคลดังกล่าว จะอ้างสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนมาได้ก็แต่ราษฎรด้วยกันเองเท่านั้น แต่ในเรื่องที่ผู้ใดกระทำผิดกฎหมายหรือไม่สำหรับกรณีนี้นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเหตุเฉพาะตัวของผู้กระทำ จำเลยจะอ้างว่าได้รับโอนสิทธิและขาดเจตนาบุกรุกป่าสงวนเช่นกันหาได้ไม่ เพราะเป็นการอ้างเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิด และเป็นการอ้างในลักษณะที่ว่าตนเองไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้น
               เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อ ได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2529 จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมาระหว่างปี พ.ศ.2530 ถึงปี 2535 จึงเป็นระยะเวลาที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติโดยการแสดงบอกกล่าวต่อเจ้าหน้าที่และแสดงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นหลักฐานแสดงออกถึงการครอบครองที่ป่าสงวนดังกล่าว กรณีก็เป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แล้ว เพราะบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามบุคคลใดเข้ายึดถือ ครอบครองป่าสงวน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิด และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ซึ่งบัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔
              "มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือ กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการ ทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้ จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"
              "มาตรา ๕๕ ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น"
              "มาตรา ๗๒ ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
               ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย"
              "มาตรา ๗๔ ทวิ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็น อุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่"