วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บทฯ

               กรมตำรวจ แต่เดิมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจึงอยู่ภายใต้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับมีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวงกรม พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔๖ (๗) บัญญัติให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สังกัดกระทรวงใดหรือสำนักนายกรัฐมนตรี และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๖ ให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
                เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๕ บัญญัติให้ ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อวางระเบียบการงานตามหน้าที่ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
               คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีความเห็นในข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือ ผบ.ตร. มีอำนาจวางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นได้ ดังนั้น กรณีที่มีเนื้อหาใดในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย และหนังสือสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงหรือระเบียบที่จะออกขึ้นใหม่ เนื้อหานั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
               ผบ.ตร. จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ออกคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา "บทที่ ๔ เรื่อง มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา" ข้อ ๒.๖ อำนาจการควบคุมการสอบสวน บัญญัติมีใจความสำคัญว่า ให้ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนได้ทุกคดี และถือว่าเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ภายในเขตอำนาจ คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลให้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๑๒.๔ ข้อ ๑๒.๕ และ ข้อ ๑๒.๖ ซึ่งมีเนื้อหาขัดหรือแย้ง สิ้นผลให้บังคับลง
               นอกจากนี้ การสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท ตามคำสั่ง ตร. ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖  ซึ่งได้แก่ การสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและที่เกี่ยวข้อง การสอบสวนคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ การสอบสวนคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม และการสอบสวนคดีที่ข้าราชการต้องหาคดีอาญา มีใจความว่า
              "คดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔
              ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้นถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย
              ส่วนคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หรือมีข้อตกลงพิเศษกับหน่วยงานราชการอื่น เกี่ยวกับวิธีการสอบสวน พนักงานสอบสวนและระยะเวลาการสอบสวน ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงและระเบียบนั้น ๆ ที่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้โดยเคร่งครัดด้วย (ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๔ และ กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับที่ ๒)"
              เห็นได้ว่า พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในระดับสถานีตำรวจไม่สามารถยอมรับการเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองได้ในทันที แต่ต้องรีบรายงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งความเห็น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการก่อนทุกคดี

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ

แนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ
                  ด้วยสำนักงานอัยการภาค 9 ได้ขอหารือสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการในการรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ กรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจได้ทำการสอบสวนฝ่ายเดียว โดยไม่มีพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมหรือใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน กอรปกับได้มีพนักงานอัยการจำนวนมากได้ขอสอบถามแนวทางปฎิบัติในการรับสำนวนประเภทดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยนั้น
                  สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาข้อหารือและปัญหาเกี่ยวกับการรับสำนวนดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรซักซ้อมความเข้าใจให้ทราบโดยทั่วกันว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยมีหนังสือเวียนตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 92 ลงวันที่ 22 เมษายน 2557 วางแนวทางปฎิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการไว้แล้ว
                  โดยให้พิจารณาว่า พนักงานสอบสวนที่เสนอสำนวนและความเห็นมายังพนักงานอัยการนั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงระเบียบปฏิบัติในหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น ๆ เพราะเป็นเรื่องภายในของแต่ละหน่วยงาน หากการสอบสวนได้กระทำโดยให้งานสอบสวนซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายพิธีพิจารณาความอาญาแล้ว พนักงานอัยการยอมที่จะมีอำนาจสั่งคดีนั้นได้ตามกฏหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในการพิจารณาอำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฏหมาย ให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ด้วย โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงคำสั่งระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายในของหน่วยงานอื่น เพราะไม่ใช่กฎหมายข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 ดังนั้น ในการพิจารณารับสำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ จึงให้พนักงานอัยการพิจารณาและถือปฏิบัติดังนี้
                1. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้น หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวมายังพนักงานอัยการ โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี ยังไม่ได้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนการสอบสวนมาด้วย ถือว่า เป็นการสรุปสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบ  เนื่องจากยังไม่มีสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีนี้ ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวไว้ แล้วสั่งให้ส่งคืนไปตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ดังกล่าวเสียก่อน
               2. สำนวนการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่ นๆ คดีใด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เพียงแต่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการสอบสวน โดยไม่ได้เข้าไปควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 กรณีนี้ แม้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะส่งสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ โดยไม่มีสรุปความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอมาด้วย พนักงานอัยการก็สามารถรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้
                   เนื่องจาก ข้อ 12 ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว กำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ในการพิจารณาว่าจะใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือไม่ หากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ก็จะไม่มีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนและการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่มีอยู่ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งต่อไปได้
            (ที่มา.- หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลงวันที่  8 มิถุนายน  2558)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้