วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อำนาจควบคุมการสอบสวนคดีป่าไม้

               สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ ตช 0011.22/3807 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปความได้ว่า “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เรื่องเสร็จที่ 66/2553) ว่าตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 (4)  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจวางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ได้ สำหรับกรณีที่เนื้อหาใดในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 และหนังสือสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขัดแย้งกับกฎกระทรวงหรือระเบียบที่จะออกขึ้นใหม่ เนื้อหานั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่เนื้อหาส่วนใดที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงระเบียบหรือคำสั่งที่จะออกใหม่ย่อมคงใช้บังคับได้ต่อไป"
              ประเด็นที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอหารือว่า กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419 / 2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ในบทที่ 4 มาตรการควบคุม ตรวจสอบและเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ข้อ 2.6 อำนาจการควบคุมการสอบสวน ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติขึ้นใหม่ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาสาระเดิมของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ข้อ 12.4 - 12.6 ที่ออกมาใช้บังคับก่อน หากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จะใช้ดุลพินิจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ อาจขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และมาตรา 140 จะสามารถกระทำได้อีกหรือไม่ และผลตามกฎหมายจะเป็นเช่นไร
             ในประเด็นที่ 1 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือเป็นหลักทั่วไปเกี่ยวกับอำนาจพนักงานสอบสวน โดยกำหนดให้งานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอและข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาประเภทหนึ่งประเภทใดโดยเฉพาะ จึงทำให้พนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาทั้งปวง แต่อำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนดังกล่าวอาจถูกจำกัดให้มีอำนาจในการสอบสวนเฉพาะความผิดอาญาบางประเภทหรือจะให้มีอำนาจสอบสวนได้เพียงใดนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 หรือข้อบังคับซึ่งออกตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี
              สำหรับกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419 / 2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เพื่อให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจถือปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น โดยคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาสาระเดิมของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ตามข้อ 12.4 ถึงข้อ 12.6 ที่ออกมาใช้บังคับก่อนนั้น  เห็นว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับเฉพาะกับการสอบสวนในส่วนของตำรวจเท่านั้น ในกรณีที่เนื้อหาในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 เฉพาะส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการของตำรวจ ขัดหรือแย้งกับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว เนื้อหาในส่วนนั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่สำหรับเนื้อหาในส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจตามข้อ 12.4 ถึงข้อ 12.6 นั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งเพื่อให้มีผลเป็นการยกเลิกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยในส่วนดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้เคยให้ความเห็นไว้แล้วในเรื่องเสร็จที่ 66/2553
             ในส่วนข้อหารือที่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จะใช้ดุลพินิจเข้าควบคุมการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ได้อีกหรือไม่นั้น  เห็นว่า มีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญาพ.ศ. 2523 ในส่วนที่เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการร่วมกันระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจนั้น จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ คือมีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการสอบสวนอยู่ได้ก็ตาม แต่การที่ฝ่ายปกครองจะเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้นั้นฝ่ายปกครองจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนในคดีความผิดอาญาประเภทนั้นเสียก่อน การที่มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ฝ่ายปกครองและตำรวจต่างมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครได้ แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ออกกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2554 เพื่อกำหนดความผิดอาญาที่ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองสอบสวนได้จึงมีผลเป็นการจำกัดอำนาจสอบสวนในคดีความผิดอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครของฝ่ายปกครองไว้เพียง 16 ประเภท เมื่อกรณีคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอหารือดังกล่าว มิได้เป็นคดีความผิดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ฝ่ายปกครองอันได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี จึงมิใช่ผู้มีอำนาจในการสอบสวนในคดีอื่นนอกเหนือจากคดี 16 ประเภทดังกล่าว และเมื่อไม่มีอำนาจสอบสวนแล้ว จึงย่อมไม่มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติได้
            ประเด็นที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือว่า กรณีหากต้องดำเนินการตามหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุดที่ อส 0007(พก)/ว 200 ลง 8 มิถุนายน 2558 แล้วจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสำนวนคดีในภายหลังหรือไม่ เนื่องจากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 12 ในส่วนนี้สิ้นผลใช้บังคับลงแล้วตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 66/2553 การใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองย่อมไม่ชอบ อันจะเป็นการขัดต่อบทกฎหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ อย่างไร
             ในประเด็นที่ 2 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อได้มีความเห็นตามประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับการใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ความเห็นในประเด็นที่ 2 อีก
             (ที่มา : บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ผลทางกฎหมายของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เรื่องเสร็จที่ 216/2559  ลง  กุมภาพันธ์ 2559)

บทความที่เกี่ยวข้อง 
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ