วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเข้าควบคุมการสอบสวนตามแผนแม่บทฯ

               กรมตำรวจ แต่เดิมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจึงอยู่ภายใต้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับมีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวงกรม พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔๖ (๗) บัญญัติให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สังกัดกระทรวงใดหรือสำนักนายกรัฐมนตรี และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๖ ให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
                เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๕ บัญญัติให้ ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อวางระเบียบการงานตามหน้าที่ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
               คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีความเห็นในข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือ ผบ.ตร. มีอำนาจวางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นได้ ดังนั้น กรณีที่มีเนื้อหาใดในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย และหนังสือสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงหรือระเบียบที่จะออกขึ้นใหม่ เนื้อหานั้นก็ย่อมสิ้นผลใช้บังคับลงตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
               ผบ.ตร. จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ออกคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา "บทที่ ๔ เรื่อง มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา" ข้อ ๒.๖ อำนาจการควบคุมการสอบสวน บัญญัติมีใจความสำคัญว่า ให้ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนได้ทุกคดี และถือว่าเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๑๘ วรรคท้าย และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ภายในเขตอำนาจ คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลให้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๑๒.๔ ข้อ ๑๒.๕ และ ข้อ ๑๒.๖ ซึ่งมีเนื้อหาขัดหรือแย้ง สิ้นผลให้บังคับลง
               นอกจากนี้ การสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท ตามคำสั่ง ตร. ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖  ซึ่งได้แก่ การสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและที่เกี่ยวข้อง การสอบสวนคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ การสอบสวนคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม และการสอบสวนคดีที่ข้าราชการต้องหาคดีอาญา มีใจความว่า
              "คดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔
              ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้นถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย
              ส่วนคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หรือมีข้อตกลงพิเศษกับหน่วยงานราชการอื่น เกี่ยวกับวิธีการสอบสวน พนักงานสอบสวนและระยะเวลาการสอบสวน ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงและระเบียบนั้น ๆ ที่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้โดยเคร่งครัดด้วย (ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๔ และ กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับที่ ๒)"
              เห็นได้ว่า พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในระดับสถานีตำรวจไม่สามารถยอมรับการเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองได้ในทันที แต่ต้องรีบรายงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งความเห็น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการก่อนทุกคดี

              ต่อมา ฝ่ายปกครองได้แจ้งประสานการปฏิบัติตามแนวทางและข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ในการเข้าควบคุมการสอบสวนคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ โดยให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี แจ้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทราบว่า เป็นการปฏิบัติตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (ยุทธศาสตร์พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ ปฏิรูปการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กลยุทธ์ที่ ๒ /โดยข้อที่ ๕ กำหนดว่า " คดีด้านทรัพยากรธรรมชาติ ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนทุกคดี) ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอนุมัติให้ใช้ฯ ตามนัยหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๓๐๗.๑/ว ๐๗๐๗ ลง ๒ ก.พ.๒๕๕๘

                จึงมีปัญหาให้พิจารณาว่า แผนแม่บทดังกล่าวเป็นกฎหมาย ที่มีศักดิ์เหนือกว่าคำสั่ง ตร. ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ หรือเป็นเพียงนโยบาย ที่ ตร. จะต้องนำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ถ้าหากฝ่ายปกครองเห็นว่า แผนแม่บทเป็นกฎหมายแล้ว ก็ไม่ตัดอำนาจฝ่ายปกครองที่จะจับกุมเองและส่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวนเองได้เองโดยอาศัยแผนแม่บทดังกล่าว โดยไม่ต้องเข้าควบคุมการสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนที่มีอำนาจลงทัณฑ์ตามวินัยได้หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้น เมื่อมีการขอเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนจึงต้องรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้น ถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน เพื่อให้ ตร. พิจารณาและสั่งการต่อไป
                ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๙๒ ลง ๒๒ เม.ย.๒๕๕๗ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๒๐๐ ลง ๘ มิ.ย.๒๕๕๘ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการรับสำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติ ไว้แล้วมีใจความสำคัญว่า ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวน ที่มีการสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา ๑๔๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๑๒๐ ได้แล้ว ทั้งนี้ ให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบกับข้อบังคับหรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้่ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงคำสั่ง ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการภายในของหน่วยงานอื่นเพราะไม่ใช่กฎหมาย ข้อบังคับหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ ในคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายปกครองเข้าควบคุมการสอบสวนตามข้อ ๑๒ ของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ แล้ว จึงให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนรับสำนวนที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้ทำความเห็นในการสรุปสำนวนการสอบสวน เพราะถือว่าฝ่ายปกครองมีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายปกครองเพียงแต่เข้าไปกำกับดูแลแต่ไม่ได้เข้าควบคุมการสอบสวน พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็มีอำนาจในการสรุปสำนวนการสอบสวนฝ่ายเดียว แล้วส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไปได้              
  

                เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ได้สั่งการเป็นอย่างอื่น พนักงานสอบสวนจึงต้องถือปฏิบัติตามคำสั่ง ตร. ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ และตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พ.ย.๒๕๕๖ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  แนวทางการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
-  แนวทางการรับสำนวนของพนักงานอัยการ